5 กันยายน 2555

ประวัติโขน

คณะโขนละครในสมัยโบราณ

        สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ว่า "การแสดงโขนเชื่อว่ามีมาแต่โบราณประมาณกันว่าไทยมีการแสดงโขนมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖" ทั้งนี้ได้อาศัยหลักฐานจากการสันนิษฐานลายแกะสลักเรื่อง"รามายณะ" จากแหล่งโบราณคดีหลายแหล่ง และจากตำนานการแสดงโขนในกฎมณเฑียรบาล โขนแต่เดิมจึงมีเฉพาะโขนหลวงประจำราชสำนัก ผู้ที่จะฝึกหัดโขนต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิคนธรรมดาสามัญจะฝึกหัดโขนไม่ได้จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ที่พวกที่ฝึกหัดโขนมักเป็นมหาดเล็กหรือบุตรหลานข้าราชการต่อมามีความนิยมที่ว่าการฝึกหัดโขนทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดมีความคล่องแคล่วว่องไวในการรบหรือต่อสู้กับข้าศึก จึงมีการพระราชทานอนุญาตให้เจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่ตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองฝึกหัดโขนได้ โดยคงโปรดให้หัดไว้แต่โขนผู้ชายตามประเพณีเดิม เพราะโขน และละครของเจ้านายผู้สูงศักดิ์หรือข้าราชการก็ต้องเป็นผู้ชายทั้งนั้น ส่วนละครผู้หญิงจะมีได้แต่ของพระมหากษัตริย์ ด้วยเป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาภายหลังความนิยมโขนก็เริ่มเสื่อมลง เนื่องจากระยะหลังเจ้าของโขนมักเอาคนพวกลูกหมู่ (หมายเหตุ : คนที่ขึ้นอยู่ในสังกัดกรมต่างๆตามวิธีควบคุมทหารแบบโบราณ ซึ่งจัดแบ่งการปกครองท้องที่ออกเป็นมณฑล คนในมณฑลไหนก็สังกัดเข้ามณฑลนั้น เมื่อมีลูกก็ต้องให้เข้ารับราชการในหมวดหมู่ของกรมเมื่อโตขึ้น เรียกว่า "ลูกหมู่") และลูกทาสมาหัดโขน ทำให้ผู้คนเริ่มมองว่าผู้แสดงเหล่านั้นต่ำเกียรติ อีกเหตุผลหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงประเพณีโบราณในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงพระราชทานอนุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยมีละครผู้หญิงได้ โดยทรงมรพระราชปรารภว่า "มีละครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เป็นเกียรติแก่แผ่นดิน" พระราชดำรินี้มีเพื่อความเจริญก้าวหน้าของศิลปะการละคร และประเทศชาติ แต่ก็ทำให้เจ้าสำนักต่างๆพากันเปลี่ยนผู้แสดงจากชายเป็นหญิงจำนวนมาก ยกเว้นบางสำนักที่นิยมศิลปะแบบโขน ทั้งยังมีครูบาอาจารย์ และศิลปินโขนอยู่ก็รักษาไว้สืบต่อมา โขนในสำนักของเจ้านาย ขุนนาง และเอกชนจึงค่อยๆสูญหายไป คงอยู่แต่โขนของหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ บรรดาโขนหลวงที่มีอยู่ก็มิได้ทำงานประจำ ใครเล่นเป็นตัวอะไรทางราชการก็จ่ายหัวโขนที่เรียกกันว่า "ศีรษะครู" ให้ประจำตัวไปบูชา และเก็บรักษาไว้ที่บ้านเรือนของตน เวลาเรียกตัวมาเล่นโขนก็ให้เชิญหัวโขนประจำตัวนั้นมาด้วย

               กำเนิดโขน


        โขน เป็นมหรสพชั้นสูงที่ใช้แสดงในงานสำคัญๆมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับหนังใหญ่เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่โบราณประมาณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยสันนิษฐานว่า "โขน" ได้พัฒนามาจากการแสดง ๓ ประเภท คือ


๑.การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์


การแสดง "ชักนาคดึกดำบรรพ์" มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกว่า"ในการพระราชพิธีอินทราภิเษกปลูกเขาพระสุเมรุ(หมายเหตุ : สร้างจากโครงไม้ไผ่ แล้วปิดทับด้วยกระดาษ แล้วจึงทาสีให้แลดูเหมือนภูเขา)
สูงเส้นหนึ่งกับ ๕ วา ที่กลางสนาม ตั้งภูเขาอิสินธร ยุคนธร สูงสักหนึ่ง และภูเขากรวิกสูง ๑๕ วาที่เชิงเขาทำเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียรเกี้ยว (หมายเหตุ : รัด)พระสุเมรุ แล้วตำรวจแต่งเป็นรูปอสูร ๑๐๐มหาดเล็กแต่งเป็นเทพยดา๑๐๐ และแต่งเป็นพาลี สุครีพ มหาชมพู และบริวารวานรรวม ๑๐๓ ชักนาคดึกดำบรรพ์โดยมีอสูรชักหัว เทพยดาชักหาง ส่วนวานรอยู่ปลายหางครั้นถึงวันที่ ๕ ของพระราชพิธีเป็นวันกำหนดให้ชักนาคดึกดำบรรพ์ และวันที่ ๖ เป็นวันชุบน้ำสุรามฤตตั้งน้ำสุรามฤต ๓ ตุ่ม ตั้งช้าง ๓ ศีรษะ ม้าเผือก อศุภราช (หมายเหตุ : โคซึ่งเป็นเทพพาหนะของพระอิศวร)ครุฑธราช นางดาราหน้าฉาน ตั้งเครื่องสรรพยุทธ เครื่องช้าง และเชือกบาศหอกชัยตั้งโตมรชุบน้ำสุรามฤตเทพยดาผู้เล่นดึกดำบรรพ์ พร้อมด้วยรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ พระวิศวกรรม ถือเครื่องสำรับตามธรรมเนียม เข้ามาถวายพระพร"พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่อง "กวนน้ำอมฤต" ไว้ในหนังสือ "บ่อเกิดรามเกียรติ์" ไว้ว่า "เทวดา และอสูรอยากจะใคร่อยู่ยงพ้นจากความตายจึงชวนกันกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต เอาเขามนทรคีรีเป็นไม้กวน เอาพญาวาสุกรี(หมายเหตุ : พญานาคเจ็ดเศียร) เป็นเชือก พญาวาสุกรีพ่นพิษเป็นไฟพากันได้ความเดือดร้อนพระนารายณ์จึงเชิญให้พระอิศวรเสวยพิษเพื่อดับความเดือดร้อน พระอิศวรก็เสวยพิษเข้าไป (หมายเหตุ : พระศอของพระอิศวรจึงเป็นสีนิลเพราะผลแห่งพิษนั้น)เทวดาและอสูรชักเขามนทคีรีหมุนกวนไปอีกจนเขาทะลุลงไปใต้โลกพระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคีรีไว้มิให้ทะลุลงไปได้อีก การกวนจึงกระทำต่อไปได้สะดวก เทวดากับอสูรทำสงครามกันชิงน้ำอมฤต พระนารายณ์ฉวยน้ำอมฤตไปเสียพ้นจากฝั่งเกษียรสมุทรแล้ว พวกอสูรมิได้กินน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึง
ได้เป็นใหญ่ในสวรรค์"สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทานอธิบายไว้ว่า การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์นี้ เป็นการแสดงตำนานทางไสยศาสตร์เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล


๒. การแสดงกระบี่กระบอง

ในสมัยโบราณคนไทยจะฝึกวิชาการต่อสู้ไว้สู้รบกับข้าศึก และเพื่อป้องกันตัว อาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ก็มีทั้งอาวุธสั้น และอาวุธยาว เช่น มีด ดาบ หอก ไม้พลอง ฯลฯ อันเป็นที่มาของวิชากระบี่กระบอง วิชากระบี่กระบองนอกจากเป็นศิลปะการป้องกันตัวในสมัยโบราณแล้วยังสามารถนำไปแสดงเป็นมหรสพได้อีกประเภทหนึ่งจนกระทั่งได้รับการปรับปรุงนำมาผสมผสานกับการแสดงโขนในเวลาต่อมา


๓. การแสดงหนังใหญ่

การแสดงหนังใหญ่ เป็นมหรสพที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นดังมีปรากฏในกฎมณเฑียรบาล หนังใหญ่นั้นตัวหนังจะทำจากหนังวัวฉลุเป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์มีไม้ผูกทาบตัวหนังไว้ทั้งสองข้างโดยผูกให้พ้นตัวหนังลงมาพอสมควรเพื่อใช้มือจับสำหรับเชิด หนังใหญ่ให้อิทธิพลกับโขน ๒อย่างคือ เรื่องราวที่ใช้แสดงเป็นเรื่องรามเกียรติ์ และลีลาการเชิดหนังซึ่งยอมรับกันว่าเป็นท่าแสดงของโขนในเวลาต่อมา โดยเฉพาะบทยักษ์หรือที่เรียกกันว่า "เต้นโขน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น