13 กันยายน 2555

การแต่งกายของผู้แสดงโขน

การแต่งกายของผู้แสดงโขน แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายมนุษย์ เทวดา (พระ - นาง) ฝ่ายยักษ์ และฝ่ายลิง






1. ตัวพระ สวมเสื้อแขนยาวปักดิ้น และเลื่อม มีอินทรธนูที่ไหล่ส่วนล่างสวมสนับเพลา ไว้ข้างในนุ่งผ้ายกจีบโจงไว้หางหงส์ทับสนับเพลา ด้านหน้ามีชายไหวชายแครงห้อยอยู่ ศีรษะสวมชฎาสวมเครื่องประดับต่างๆ เช่น กรองคอ ทับทรวง ตาบทิศ ปั้นเหน่ง ทองกร กำไลเท้าเป็นต้น แต่เดิมตัวพระจะสวมหัวโขน แต่ภายหลัง ไม่นิยม เพียงแต่แต่งหน้าและสวมชฎาแบบละครในเท่านั้น ทั้งเทวดาและมนุษย์ แต่งกายเหมือนกันหมดคือ แต่งยืนเครื่องอย่างพระผิดกันแต่สีเสื้อเปลี่ยนไปตามสีกายประจำตัวละคร เช่น พระอินทร์สีเขียวพระพรหมสีขาว ท้าวมาลีวราชสีขาว พระราม สีเขียว พระลักษมณ์สีทอง พระพรตสีแดงชาดและพระสัตรุดสีม่วงอ่อน เป็นต้น เข้าใจว่าในสมัยโบราณตัวพระจะสวมหน้าด้วยเครื่องประดับศีรษะจึงมีหลายลักษณะ ของเทวดาเป็นมงกุฎยอดต่างๆ เช่นพระอินทร์เป็นมงกุฎเดินหนท้าวมาลีวราชเป็นมงกุฎยอดชัย หรือมงกุฎน้ำเต้าของมนุษย์เป็นมงกุฎชัย หรือชฎาพระ




หมายเหตุ : ซ้ายของภาพแสดงเสื้อแขนสั้น ไม่มีอินทรธนู ส่วนทางขวาของภาพแสดงเสื้อแขนยาวมีอินทรธนู


2. ตัวนาง สวมเสื้อแขนสั้นเป็นชั้นในแล้วห่มสไบทับ ทิ้งชายไปด้านหลังยาวลงไปถึงน่องส่วนล่างนุ่งผ้ายกจีบหน้า ศีรษะสวมมงกุฎ รัดเกล้าหรือกระบังหน้าตามแต่ฐานะของตัวละคร ตามตัวสวมเครื่องประดับต่างๆ เช่น กรองคอสังวาล พาหุรัด เป็นต้น แต่เดิมตัวนางที่เป็นตัวยักษ์ เช่น นางสำมนักขา นางกากนาสูรจะสวมหัวโขน แต่ภายหลังมีการแต่งหน้าไปตามลักษณะของ ตัวละครนั้นๆโดยไม่สวมหัวโขนบ้าง ตัวนางจะแต่งยืนเครื่องนางหมดทุกตัว ผิดกันแต่เครื่อง สวมศีรษะ คือ พระชนนีทั้งสามของพระราม นางสีดา มเหสีพระอินทร์ นางมณโฑนางเทพอัปสร นาง วานริน นางบุษมาลี ตลอดจนนางสุพรรณมัจฉานางสุวรรณกันยุมา นางตรีชฎาสวมรัดกล้ายอด นางเบญกายสวมรัดเกล้าเปลว ส่วนนางกาลอัคคี สวมมงกุฎยอดนาคนางกำนัลสวม กระบังหน้านางสุพรรณมัจฉามีหางปลาติดไว้ที่ส่วนหลังใต้เข็มขัดด้วยเพราะมีสัญชาติเป็นปลา


หมายเหตุ : บางครั้งไม่จำเป็นต้องแต่งครบทุกชิ้นตามนี้ก็ได้


3. ตัวยักษ์ แบ่งออกเป็นระดับต่างๆ คือ พญายักษ์ เสนายักษ์ และเขนยักษ์ พญายักษ์ เช่น ทศกัณฐ์อินทรชิต ไมยราพ พิเภก สหัสเดชะ แสงอาทิตย์ จะนุ่งผ้าเยียรบับทับสนับเพลาเช่นเดียวกันกับตัวพระแต่ไม่ไว้โจงหางหงส์ แต่จะมีผ้าปิดก้นห้อยลงมาจากเอว เครื่องประดับส่วนใหญ่เช่นเดียวกันกับตัวพระ เพียงแต่มีเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือตัวพญายักษ์ชั้นผู้ใหญ่ เช่น ทศกัณฐ์ มักจะมีรัดอกคาดอยู่ด้วย เสนายักษ์นุ่งผ้าเกี้ยว นอกนั้นก็เหมือนพญายักษ์ เพียงแต่ไม่มีรัดอก เขนยักษ์สวมเสื้อผ้าธรรมดา นุ่งผ้าลาบทับสนับเพลา ผ้าปิดก้นไม่มี คาดเอวด้วยผ้า มีกรองคอทำด้วยผ้าธรรมดาสวมศีรษะเขียนลาย พญายักษ์และเสนายักษ์แต่ละตัวมีสีกายและสีหน้าประจำตัวมีหัวโขนเฉพาะของตัว มียอดของส่วนมงกุฎแต่งต่างกันออกไป บางพวกก็ไม่มีมงกุฎเรียกว่า ยักษ์โล้น” นางอดูลปิศาจ เครื่องแต่งตัวบางทีไม่ใช้ยืนเครื่องอย่างนางแต่รวบชายล่างขึ้นโจงกระเบน ดูก็เหมือนยักษ์อื่นๆ คาดเข็มขัดแต่ไม่มีห้อยหน้าเจียระบาดอย่างพญายักษ์ สวมเสื้อแขนยาวอย่างยักษ์ผู้ชายแต่มีห่มนางทับบนเสื้อ เครื่องประดับอื่นๆ คล้ายตัวนางทั่วๆไปส่วนนางยักษ์ที่เป็นมเหสีหรือธิดาของพญายักษ์ แต่งกายยืนเครื่องนางสวมมงกุฎหรือรัดเกล้า ไม่สวมหัวโขน


หมายเหตุ : บรรดาพญายักษ์ตัวสำคัญอื่นๆในการแสดงโขน จะแต่งกายคล้ายแบบนี้ ต่างกันแต่สีและลักษณะของหัวโขน
ซึ่งนายช่างได้บัญญัติ และประดิษฐ์ให้แปลกแตกต่างกันเฉพาะหัวยักษ์มีอยู่ราวร้อยชนิด


4. ตัวลิง แบ่งออกเป็นพวกๆ ได้แก่ พญาวานร เช่น หนุมาน สุครีพ องคต ฯลฯ พวกสิบแปดมงกุฎเช่น มายูร เกยูร เกสรมาลา ฯลฯ พวกเตียวเพชร เช่น โชติมุก พวกจังเกียงและพวกเขนลิง พวกพญาวานรและพวกอื่นๆ ยกเว้นเขนลิง แต่งตัวยืนเครื่องและสวมเสื้อตามสีประจำตัวในเรื่องรามเกียรติ์ แต่ไม่มีอินทรธนูนุ่งผ้าไม่จีบโจงหางหงส์ มีผ้าปิดก้นห้อยเอวลงจากด้านหลังเช่นเดียวกับยักษ์และมีหางห้อยอยู่ข้างใต้ ผ้าปิดก้น เฉพาะตัวมัจฉานุมีหางเป็นปลาผิดจากลิงอื่นๆลิงเหล่านี้แต่ละตัวมีหัวโขนเฉพาะของตัว ทั้งที่เป็นมงกุฎยอดต่างๆและทั้งที่ไม่มีมงกุฎเรียกว่า “ ลิงโล้น ” เสื้อลิงนั้นใช้ดิ้นและเลื่อมปักทำเป็นเส้นขด สมมติว่าเป็นขนตามตัวของลิง ไม่ทำเป็นลายดอกอย่างเสื้อตัวพระหรือยักษ์ และไม่มีอินทรธนู เขนลิงสวมเสื้อแขนยาวผ้าธรรมดา กรองคอก็เป็นผ้าธรรมดา นุ่งกางเกงคาดเข็มขัดมีหางและผ้าปิดก้น สวมศีรษะเขนลิง

หมายเหตุ :บรรดาวานรตัวสำคัญอื่นๆในการแสดงโขน จะแต่งกายคล้ายแบบนี้ ต่างกันแต่สีและลักษณะของหัวโขน ซึ่งนายช่างได้บัญญัติ และประดิษฐ์ให้แปลกแตกต่างกันเฉพาะหัวลิงมีอยู่ประมาณ 40 ชนิด
5. ตัวเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ตัวละครอื่นๆ เป็นต้นว่าฤาษีต่างๆ เช่น พระวสิษฐ์ พระสวามิตร พระโคบุตร เป็นต้น ล้วนแต่งกายแบบฤาษีเช่นเดียวกับเรื่องอิเหนาแต่ศีรษะคงสวมหัวโขน เป็นประจำช้างเอราวัณ สวมศีรษะช้างสามเศียร สีขาวมงกุฎยอดน้ำเต้า ส่วนช้างธรรมดาก็ใช้เช่นเดียวกับในเรื่องอิเหนาม้าอุปการสวมหน้าม้าสีดำ ปากแดง ส่วนมากลากราชรถอื่นๆ มีศีรษะ ม้าสวม มีหลายสีครอบไว้เหนือกระหม่อมหรืออาจใช้มาแผงห้อยไว้ที่ข้างลำตัว อย่างเรื่องอิเหนาก็ได้ นอกจากนี้ก็มีตัวเบ็ดเตล็ดอื่นๆซึ่งล้วนแต่สวมศีรษะสัตว์โดยได้จำลองเลียนแบบลักษณะของจริงมาหรือประดิษฐ์ให้ตรงกับในบท เช่น กวางทอง พญาครุฑเหยี่ยว ปลา พญานาค มหิงสา เป็นต้น

1 ความคิดเห็น: