13 กันยายน 2555

ลักษณะบทโขน

ลักษณะบทโขน ประกอบด้วย
  • บทร้อง ซึ่งบรรจุเพลงไว้ตามอารมณ์ของเรื่องบทร้องแต่งเป็นกลอนบทละครเป็นส่วนใหญ่ อาจมีคำประพันธ์ชนิดอื่นบ้างแต่ไม่นิยมบทร้องนี้จะมีเฉพาะโขนโรงในและโขนฉาก เท่านั้น

  • บทพากย์ หรือคำพากย์ การแสดงโขนโดยทั่วไปจะเดินเรื่องด้วยบทพากย์ซึ่งแต่งเป็น คำประพันธ์ประเภท กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์ยานี 11 เมื่อพากย์จบไปบทหนึ่งๆ (บทของกาพย์) ตะโพนต้องตีรับท้าให้กลองทัดตีตาม แล้วเหล่าผู้แสดงภายในโรง ร้องรับด้วยคำว่า “ เพ้ย ” พร้อมๆกันทุกบท การรับโดยตะโพน กลองทัด และร้องเพ้ยดังกล่าวข้างต้นนี้ ใช้กับบทพากย์ชนิดต่างๆ ยกเว้นพากย์โอ้ ซึ่งต้องรอจนกว่าปี่พาทย์จะรับร้องเพลงโอ้ปี่ ถึงตอนท้าเพลงตะโพนจึงตีท้าให้กลองทัดตีตาม ตลอดจนผู้แสดงในโรงร้องรับด้วยคำว่า “ เพ้ย ” โดยให้จบลงพอดีกับทำนองของเพลงปี่พาทย์

บทพากย์ มีชื่อเรียกต่าง ๆดังนี้
1. พากย์เมือง หรือพากย์พลับพลา คือบทตัวเอกเช่น ทศกัณฐ์หรือพระรามประทับในปราสาทหรือพลับพลา
2. พากย์รถ ใช้ในกรณีตัวโขนออกรบ ซึ่งอาจจะทรงพาหนะรถ ม้า หรือช้าง
3. พากย์โอ้ เป็นบทโศกเศร้า รำพัน คร่ำครวญซึ่งตอนต้นเป็นพากย์ แต่ตอนท้ายเป็นทำนองร้องเพลงโอ้ปี่ ให้ปี่พาทย์รับ
4. พากย์ชมดง เป็นบทตอนชมป่าเขา ลำเนาไพร ทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้อง เพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองพากย์ธรรมดา
5. พากย์บรรยาย เป็นบทขยายความเป็นมา ความเป็นไปหรือพากย์รำพึงรำพันใดๆ
6. พากย์เบ็ดเตล็ด เป็นบทที่ใช้ในโอกาสทั่วๆ ไปเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เข้าประเภทใด เช่นกล่าวว่า ใครทำอะไร หรือพูดกับใครว่าอย่างไร



  • บทเจรจา เป็นบทกวีที่แต่งเป็นร่ายยาวส่งและรับสัมผัสกันไปเรื่อยๆ ใช้ได้ทุกโอกาส สมัยโบราณเป็นบทที่คิดขึ้นสดๆเป็นความสามารถของคนพากย์ คนเจรจา ที่จะใช้ปฏิภาณคิดขึ้นโดยปัจจุบันให้ได้ถ้อยคำสละสลวย มีสัมผัสแนบเนียนและได้เนื้อถ้อยกระทงความถูกต้องตามเนื้อเรื่อง ผู้พากย์เจรจาที่เก่งๆยังสามารถใช้ถ้อยคำคมคาย เหน็บแนมเสียดสี บางครั้งก็เผ็ดร้อนโต้ตอบกันน่าฟังมาก ปัจจุบันนี้บทเจรจาได้แต่งไว้เรียบร้อยแล้วผู้พากย์เจรจาก็ว่าตามบทให้เกิดอารมณ์คล้อยตามถ้อยคำ โดยใช้เสียงและลีลาในการเจรจา ผู้พากย์และเจรจาต้องทำสุ้มเสียง ให้เหมาะกับตัวโขนและใส่ความรู้สึกให้เหมาะกับอารมณ์ในเรื่องคนพากย์และเจรจานี้ใช้ผู้ชายคนหนึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งพากย์และเจรจา และต้องมีไม่น้อยกว่า ๒ คนจะได้โต้ตอบกัทันท่วงที เมื่อพากย์หรือเจรจาจบกระบวนความแล้วต้องการจะให้ปี่พาทย์ทำเพลงอะไรก็ร้องบอกไป เรียกว่า“ บอกหน้าพาทย์” และถ้าการแสดงโขนนั้นมีขับร้องคนพากย์และเจรจายังจะต้อง ทำหน้าที่บอกบทด้วย การบอกบทจะต้องบอกให้ถูกจังหวะ

การร้องประกอบการแสดงโขนเกิดขึ้นตอนที่โขนได้ผสมกับละครใน เป็นประเภทโขนโรงในการแสดงโขนถวายทอดพระเนตร คนพากย์และคนเจรจาเครื่องแบบมหาดเล็กตามยศของราชทินนามในสมัยรัชกาลที่ 6 มีตำแหน่งนักร้อง 5 ตำแหน่ง ได้แก่ พจนาเสนาะ ไพเราะพจมาน ขานฉันทวากย์ พากย์ฉันทวัจน์ และชัดเจรจา
นักร้องแบ่งออกเป็น 2 พวก คือต้นเสียงและลูกคู่ ต้นเสียงทำหน้าที่ร้องขึ้นต้นบทและร้องเดี่ยวไปจนหมดวรรคแรกของคำกลอน วรรคที่สองเป็นหน้าที่ของลูกคู่ที่จะร้องต่อ ในระหว่างลูกคู่ร้องต้นเสียงก็ฟังบทร้องจากคนบอกบทเพื่อร้องต่อไปต้นเสียง นอกจากร้องเพลงถูกต้องแล้วยังต้องรู้ทีท่าของโขนว่าจะร้องช้าเร็วประการใดเพื่อให่เหมาะกับการรำของตัวโขนตัวนั้นและต้องรักษาระดับเสียงให้เข้ากับดนตรี ฉะนั้นต้นเสียงมีสักกี่คนก็ตามแต่เวลาทำหน้าที่ร้องต้องร้องทีละคน ส่วนลูกคู่ต้องร้องให้พร้อมกันทีละ 2 คนเป็นอย่างน้อยและอย่างมากไม่เกิน 6 คน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น